โรคที่เกิดในปาล์มน้ำมัน

โรคที่เกิดในปาล์มน้ำมัน

     ปาล์มน้ำมัน…พืชที่สร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก แต่กว่าจะมาถึงจุดนั้นชาวสวนปาล์มน้ำมันยังต้องเผชิญโรคที่ก่อกวนสร้างความเสียหายให้ผลผลิตลดน้อยลงหลากหลายโรคเลยทีเดียว เช่นนั้นแล้ว เรามารู้ให้เท่าทันโรคเหล่านั้นกันดีกว่าค่ะ

โรคใบไหม้

เป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่ในระยะต้นกล้า เกิดจากเชื้อรา Curvularia sp. มีอาการของโรคที่คล้ายกันกับที่เกิดในต้นกล้า นั้นคือ มักเกิดที่ใบอ่อนช่วงที่ใบกำลังคลี่ออก เกิดเป็นจุดเล็กๆ โปร่งใส ต่อมาแผลจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลขอบสีน้ำเงินเข้มมีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ แผลมีลักษณะเป็นทรงกลมรียาว 7 – 8 มิลลิเมตร ต้นเจริญเติบโตช้า อาการรุนแรงมากถึงขั้นยืนต้นตายได้ หากพบควรแยกออกมาเผาทำลาย และป้องกันกำจัดด้วยสารกำจัดและป้องกันเชื้อรา

โรค Algal Disease 
สาเหตุของโรคเกิดจากสาหร่ายในสปีชีย์ Cephaleuros virescens ซึ่งเป็นปรสิตกับพืชทำให้ปาล์มน้ำมันเกิดอาการจุดแผลสีเหลืองส้มลักษณะฟูเท่าหัวเข็มหมุด พบมากในทางใบย่อยของทางใบแก่เท่านั้น

โรคทางใบบิด
พบในปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 1 – 3 ปี ที่กลางใบยอดจะเกิดแผลสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ เมื่อแผลขยายตัวทำให้ใบย่อยไม่คลี่เกิดอาการเน่า ยอดโค้งงอลงเมื่อทางยอดคลี่ออกจะพบว่าบริเวณกลางทางใบเป็นแผลแห้งหรือฉีกขาดรุ่งริ่งเหลือเพียงแค่เส้นกลางใบ หากมีอาการรุนแรงจะพบว่าทางใบโค้งงอหลายอันจนมีอาการคล้ายมงกุฎ ซึ่งสาเหตุโรคเกิดจากสรีระและลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่หากปาล์มน้ำมันมีอายุมากขึ้นอาการเหล่านี้จะหายไปเอง ในระหว่างนี้ที่พบโรคควรตัดใบที่เกิดโรคออกแล้วใช้สารป้องกันโรคเพื่อป้องกันโรคอื่นๆ เข้าทางปากแผลที่เปิดอยู่ได้

โรคก้านทางใบเน่า 
พบในปาล์มน้ำมันที่มีอายุประมาณ 2 ปี ใบย่อยจะมีสีเขียวเข้ม ผิวใบด้าน ปลายทางใบบิด อาการรุนแรงจะเกิดรอยแตกสีน้ำตาลอมม่วงตามความยาวของใบ เมื่อฉีกดูจะพบว่าทางใบเน่าเริ่มจากปลายไปหาโคนทางใบ

โรคยอดเน่า
พบว่าเกิดโรคได้มากในปาล์มน้ำมันอายุตั้งแต่ 1 – 3 ปี โดยเชื้อก่อโรคที่พบอยู่ในตอนนี้ คือ เชื้อรา Fusarium spp. และแบคทีเรีย Erwinia sp. โดยจะมีอาการโคนยอดเน่าในระยะแรก ทางยอดเหลือง เกิดแผลเน่าสีน้ำตาลดำที่โคนยอด ต่อมาแผลขยายทำให้ยอดเน่าแห้งดึงหลุดได้ หากเกิดการเน่าลุกลามจะทำให้ต้นปาล์มน้ำมันยืนต้นตายได้ ป้องกันโดยการกำจัดวัชพืชที่อาจจะเป็นแหล่งหลบซ่อนของเชื้อก่อโรคได้ ตัดส่วนที่เป็นโรคออกจากนั้นทาด้วยปูนแดงเพื่อป้องกันเชื้อก่อโรคอื่นๆ เข้าทางปากแผล

     โรคที่เกิดกับปาล์มที่กำลังปลูกลงแปลงเตรียมพร้อมเพื่อให้ผลผลิตสร้างกำไรให้ชาวสวนปาล์มน้ำมันยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในครั้งต่อไปเราจะมาต่ออีก 5 โรคที่พบได้ในระหว่างที่เรากำลังเฝ้าบำรุงเพื่อผลผลิตที่ดีอยู่นี้กัน  มาต่อกันที่โรคพืชที่พบระบาดในปาล์มน้ำมันอีก 6 โรคกันค่ะ เริ่มที่…

โรคทะลายเน่า
สาเหตุเกิดจากเชื้อเห็ด Marasmius palmivorus เริ่มแรกจะเกิดเส้นใยสีขาวบนทะลายปาล์มน้ำมัน โดยจะเจริญอยู่ตรงช่องระหว่างผลปาล์มน้ำมันกับโคนทะลายที่ติดใบ ต่อมาเส้นใยจะขึ้นปกคลุมทั่วทะลายและเข้าทำลายผลปาล์มน้ำมัน ทำให้เกิดอาการเน่าเป็นสีน้ำตาล ส่งผลให้เกิดกรดไขมันอิสระขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่เร่งนำส่วนที่เน่าออกจากต้นจะส่งผลให้เชื้ออื่นเข้าทำลายต้นได้ง่ายขึ้น และยังส่งผลกระจายไปยังทะลายอื่นๆ ให้เน่าตามกันอีกด้วย ระยะที่พบโรคนี้จะเป็นในปาล์มที่มีอายุ 3 – 9 ปี วิธีป้องกันและกำจัด คือ ตัดส่วนที่เป็นโรคออก มั่นดูแลการติดเกสรและเก็บผลที่ผสมไม่ติดออกมั่นตัดแต่งทางใบเพื่อช่วยลดความชื้นที่คอปาล์ม และเลี่ยงการตัดช่อดอกหรือทะลายทิ้งในระยะที่ต้นปาล์มกำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต เพราะจะยิ่งเป็นการเร่งให้ปาล์มสร้างทะลายขึ้นมาใหม่จำนวนมาก ซึ่งยิ่งเป็นการแพร่กระจายเชื้อนั่นเอง

โรคผลเน่า
โรคผลเน่าเกิดจากเชื้อรา Fusarium sp., Aspergillus sp., Collectotrichum sp., Penicillium sp. และ Botryodiplodia sp. ซึ่งทำให้มีอาการเปลือกนอกผลอ่อนนุ่มมีสีดำโดยเริ่มจากโคนหรือปลายผลเข้ามา ส่วนมากจะเกิดในผลที่สุกแล้ว

โรคเหี่ยว 
มักเกิดกับต้นปาล์มที่มีอายุ 5 ปี โดยจะแสดงอาการเหี่ยวอย่างรวดเร็วซึ่งเริ่มจากทางใบแก่ก่อน ทางใบจะคล้ายกับถูกไฟไหม้จนต้นตาย หากตรวจดูภายในจะพบอาการเน่าจากปลายใบเข้าหาโคนและลุกลามจนทำให้ตาเน่าและลำต้นตายในที่สุด ซึ่งจากที่กล่าวมาใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน

โรคลำต้นปาล์มส่วนบนเหี่ยว
เกิดจากเชื้อเห็ด Phillinus sp. ร่วมกับ Ganoderma sp. ซึ่งพบว่าส่วนบนของต้นปาล์มน้ำมันจากยอดประมาณครึ่งเมตรหัก พบในต้นปาล์มที่มีอายุ 9 ปี เมื่อผ่าออกดูจะพบว่าเชื้อเข้าจากฐานของก้านทำให้เกิดอาการเน่า ในขณะที่ตาและรากไม่พบความผิดปกติใดๆ

โรคราดำ 
พบเป็นกลุ่มราสีดำขึ้นปกคลุมใบ รูปร่างไม่แน่นอน มักเกิดบนทางใบแก่บริเวณใต้ใบ และมักพบเพลี้ยหอยหรือเพลี้ยอ่อนปะปนอยู่ด้วย หากนำใบไปล้างน้ำจะพบว่าใบไม่ได้ถูกทำลายแต่สีของใบจะซีดกว่าบริเวณที่ไม่ได้ถูกราปกคลุม นั่นเพราะบริเวณนั้นใบปาล์มน้ำมันไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ซึ่งจะพบในต้นปาล์มที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งเชื้อก่อโรค คือ เชื้อรา Brookis sp. สามารถแพร่กระจายไปกับลมและน้ำโดยสปอร์ที่เชื้อราสร้างขึ้นมาในการขยายพันธุ์ เมื่อตกลงบนมูลสัตว์ที่มาถ่ายไว้บนใบปาล์มน้ำมันจะทำให้สปอร์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

โรคผลร่วง
โรคผลร่วงเกิดจากการขาดธาตุอาหารของปาล์มในขณะที่กำลังมีการให้ผลผลิต หรือเกิดจากการผสมพันธุ์ของเกสรไม่ติด โดยผิวของผลปาล์มจะมีความด้านกว่าปกติ เมื่อทะลายมีการกระทบกระเทือนจะมีอาการหลุดร่วงได้ง่าย มักเป็นแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดของทะลายปาล์ม ซึ่งจะพบมากบริเวณปลายของทะลาย ควรทำลายส่วนที่แสดงอาการออกให้หมดเพื่อลดการเป็นแหล่งอาศัยของแมลง และควรมีการให้น้ำและธาตุอาหารอย่างเหมาะสมเพื่อลดอาการดังกล่าวนี้ด้วย

     ทั้งหมดนี้คือโรคที่เกิดขึ้นได้ในสวนปาล์ม ซึ่งเกษตรกรที่ทราบแล้วคงจะได้ออกเดินสำรวจสวนปาล์มน้ำมันของตัวเองกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางโรคอาจใช้เวลาแค่ชั่วพริบตาก็ก่อความเสียหายขึ้นให้ได้มากมายแล้วนั้นเอง