ไนโตรเจน

ไนโตรเจน ธาตุอาหารที่พืชขาดแล้วส่งผลกระทบร้ายแรง

     ไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชทุกชนิด ถูกจัดเป็นหนึ่งในสามธาตุหลักที่พืชต้องใช้ในกระบวนการเติบโตของต้น โดยปกติธาตุไนโตรเจนจะพบได้มากในอากาศ แต่พืชไม่สามารถสังเคราะห์เอาไนโตรเจนเหล่านั้นมาใช้ได้โดยตรง ยกเว้นเพียงพืชตระกูลถั่วที่รากมีความพิเศษสามารถจับเอาไนโตรเจนในอากาศมาแปลงเป็นอาหารได้ ส่วนพืชชนิดอื่นๆ จึงต้องใช้ธาตุไนโตรเจนจากช่องทางอื่นๆ

     โดยปกติทั่วไปแล้วในต้นพืชทุกชนิดมักมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชอยู่ในตัว ซึ่งจะมากน้อยแค่ไหนไม่สามารถกำหนดได้ การจะหวังพึ่งธาตุอาหารที่อยู่ในพืชอย่างเดียวจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะแบบนั้นจึงมีการคิดค้นเอาไนโตรเจนที่อยู่ในอากาศมาอัดเป็นเม็ดเกิดเป็นปุ๋ยเคมีที่เรียกว่า “ปุ๋ยยูเรีย” หรือ “ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0” ในปุ๋ยชนิดนี้จะมีไนโตรเจนอยู่อย่างเข้มข้นมาก เพราะฉะนั้นเวลานำเอาไปใช้จึงไม่ควรให้ตัวปุ๋ยสัมผัสโดนพืชโดยตรง เพราะไม่อย่างนั้นอาจเกิดอาการไหม้ได้ ควรรีบรดน้ำหลังใช้ทันทีเพื่อคงประสิทธิภาพของปุ๋ยไม่ให้ถูกระเหยกลับสู่อากาศนั่นเอง

     ความสำคัญของไนโตรเจนจะช่วยกระตุ้นให้พืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้น ใบแข็งแรง เพิ่มปริมาณโปรตีน ซึ่งหากขาดไปจะส่งผลให้ต้นพืชแคระแกร็น โตช้า ใบเหลือง โดยเฉพาะใบล่าง ๆ จะแห้ง ร่วงหล่นเร็วทำให้แลดูต้นโกร๋น การออกดอกออกผลจะช้า และไม่ค่อยสมบูรณ์ แต่หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้พืชอวบน้ำมาก ต้นอ่อน ล้มง่าย โรคและแมลงเข้ารบกวนทำลายได้ง่าย คุณภาพผลิตผลของพืชบางชนิดก็จะเสียไปได้ เช่น ทำให้ต้นมันไม่ลงหัว มีแป้งน้อย อ้อยจืด ส้มเปรี้ยว และมีกากมาก เป็นต้น

     เพราะฉะนั้นการใช้ไนโตรเจนควรใช้อย่างเหมาะสมตามปริมาณที่พืชต้องการ ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่เหมาะสมสามารถหาได้จากกรมวิชาการเกษตร และไม่เพียงเท่านั้นในดินที่แตกต่างกัน ปลูกพืชต่างชนิดกัน ย่อมมีไนโตรเจนสะสมอยู่ในดินที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นการตรวจธาตุอาหารในดินจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ปลูกพืชชนิดเดิมเป็นเวลานาน โดยสามารถนำดินไปตรวจได้ที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ทุกที่