“การเรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้ว เป็นวิธีลัดไปสู่ความสำเร็จของเราได้เร็วที่สุด” แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายวงการอาชีพ คล้ายๆ กับคำกล่าวในของนักปราชญ์ชาวจีนโบราณที่ว่า …รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง และในวันนี้เราจะนำแนวปฏิบัติของปราชญ์แห่งเมืองแกลง จังหวัดระยอง ในการทำสวนทุเรียนมาเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะทำให้เราได้รับซึ่งชัยชนะ
คุณลุงเสด ใจดี ผู้ถูกขนานนามว่า “ปราชญ์ผลไม้” ผู้ได้รับการยกย่องจากสำนักเกษตรอำเภอแกลง จ.ระยอง ให้สวนทุเรียนหมอนทองของคุณลุงเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการดูแลจัดการสวนทุเรียนคุณภาพ ซึ่งแนวปฏิบัติของคุณลุงมีดังนี้ค่ะ
1. เริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ที่คุณลุงเลือกที่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์จำพวกขี้ไก่ ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ได้จากวัสดุรอบตัวอย่างกิ่งและใบทุเรียนที่ตัดแต่งออก โดยสุมไว้ใต้โคนต้นเพื่อให้เกิดการย่อยสลายทางธรรมชาติกลายเป็นสารอาหารให้ต้นทุเรียนต่อไป
2. นอกจากนี้ยังมีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพอื่นๆ ใกล้ตัว ซึ่งไม่ได้ใช้วัสดุหายากอะไรเช่นกัน แต่เป็นธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัวอย่าง ใบตำลึงหรือผักบุ้ง กล้วยน้ำว้า และน้ำตาลทรายแดง ที่ไม่ใช่แค่เป็นแหล่งอาหารให้พืชเท่านั้น แต่ยังสามารถไล่แมลงศัตรูทุเรียนบางชนิดได้ด้วย
3. การให้น้ำทุเรียนมีการให้ตลอดทั้งปี แต่ปริมาณตามแต่ละช่วงเวลาหรือฤดูนั้นแตกต่างกันออกไป อย่างเช่น ช่วงระยะการเจริญเติบโตของต้นทุเรียนในช่วงบำรุงต้นเตรียมออกดอก ต้นทุเรียนจะต้องการน้ำข้างค่อนมาก ซึ่งช่วงนี้จะตรงกับฤดูฝน การให้น้ำต้องสังเกตจากความชื้นโดยรอบ หากดินมีความชุ่มน้ำอยู่แล้วอาจงดการรดน้ำในช่วงนั้น เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญต้องอย่าให้ทุเรียนขาดน้ำเป็นอันขาด เนื่องจากน้ำคือสิ่งที่จะนำพาธาตุอาหารต่างๆ ไปหล่อเลี้ยงต้น ยกเว้นในระยะกระตุ้นให้ต้นออกดอกหลังฤดูฝน
4. การใช้ปุ๋ยเคมีพิจารณาจากความต้องการของต้นทุเรียนเป็นหลัก เนื่องจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยหมักสามารถให้อาหารต้นทุเรียนอยู่ได้ในระดับหนึ่ง ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีจึงอาจจะต้องลดน้อยลงจากปริมาณที่ทางกรมวิชาการเกษตรได้แนะนำเอาไว้ ทำให้ต้นทุนลดลงตามไปด้วย
5. ตัดแต่งเลี้ยงผลแค่พอเหมาะเท่านั้น โดยปริมาณที่คุณลุงเหลือไว้ต่อต้นจะอยู่ที่ 60 – 80 ผล เพื่อไม่ให้ต้นทุเรียนสูญเสียธาตุอาหารจนโทรมเกินไป และยังทำให้ได้ผลผลิตลูกใหญ่อีกด้วย
6. มีการวางแผนการผลิตและบริหารจัดการสวนอย่างเป็นระบบ ตรวจสอบค่าใช้จ่าย รายรับทางระบบบัญชี และประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
7. พัฒนาคุณภาพผลผลิตอยู่เสมอ มีความซื่อสัตย์ต่อคู่ค้า และเป็นผู้นำด้านความรู้และการปฏิบัติในชุมชนตลอดจนบุคคลทั่วไป
ซึ่งทั้งหมด 7 ข้อนี้ คือแนวทางปฏิบัติที่สวนทุเรียนของปราชญ์ไม้ผลแห่งอำเภอแกลง จ.ระยอง ได้ถือปฏิบัติเสมอมา แถมยังทำให้เกิดการเกษตรที่ยั่งยืนเกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ความสำเร็จดีๆ แบบนี้จึงต้องบอกต่อเพื่อให้ชาวสวนทุเรียนท่านอื่นๆ ได้ลองนำไปประยุกต์ใช้กับสวนทุเรียนของตัวเองกันนะคะ สุดท้ายต้องขอขอบคุณที่มาดีๆ จากเว็บไซค์เทคโนโลยีชาวบ้าน
First Organic Farm Co.,Ltd.