10 พันธุ์สตรอว์เบอร์รี่พระราชทาน

10 พันธุ์สตรอว์เบอร์รี่พระราชทาน

     สตรอว์เบอร์รี่ไม่ใช่พืชที่มีอยู่ในบ้านเรา เนื่องจากเป็นผลไม้เมืองหนาวแต่กลับมีการปรับตัวจนสามารถปลูกได้ในหลากหลายประเทศ ซึ่งจุดเด่นในข้อนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชทรงเล็งเห็นแนวทางในการนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวดอยที่ในสมัยนั้นนิยมปลูกฝิ่นให้หันมาสร้างรายได้จากการปลูกสตรอว์เบอร์รี่แทน และจากโครงการในพระราชดำริในวันนั้นสตรอว์เบอร์รี่จึงกลายมาเป็นพืชอีกหนึ่งอย่างที่ทำเงินและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชาวไทย ซึ่งวันนี้เรามี 10 พันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ในปัจจุบันมีที่ได้รับความนิยมมานำเสนอดังนี้ค่ะ

พันธุ์พระราชทาน 16
• สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์เบาที่นำเข้ามาปลูกทดลองจากประเทศอเมริกา ปรับตัวได้ดีแต่ให้ผลผลิตในช่วงที่สั้น ผลมีขนาดใหญ่(ตามแต่สภาพอากาศ) เนื้อมีสีแดงขาวจนถึงแดง เมล็ดสีเหลือง รสชาติเปรี้ยว ขั้วผลหลุดออกง่าย และมีความค่อนข้างแข็ง จึงเป็นสตรอว์เบอร์รี่ที่เหมะกับการส่งไปแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารมากกว่า

พันธุ์พระราชทาน 50
• เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอุณหภูมิ 15 – 28 องศาเซลเซียส ขนาดผลปานกลาง ผิวและเนื้อมีสีแดงเข้ม แกนบางลูกแน่นบางลูกกลวง รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม และผลค่อนข้างแข็ง พันธุ์พระราชทาน 50 เป็นพันธุ์ที่มีขึ้นในปีที่พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ทรงฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี

พันธุ์พระราชทาน 70
• เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาทดลองปลูกจากประเทศญี่ปุ่น มีชื่อพันธุ์ว่า Toyonoka เป็นสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์เบาที่ให้ผลผลิตสูง ผลใหญ่ มีลักษณะเป็นทรงกลมหรือกรวย มีสีแดงแต่ไม่สม่ำเสมอ กลิ่นหอม ดูฉ่ำ รสชาติหวาน เนื้อและผิวแข็ง ซึ่งทำให้สะดวกในการขนส่งและเก็บรักษา ส่วนชื่อได้มาในปีที่ทรงมีพระชนมายุครบ 70 พรรษา

พันธุ์พระราชทาน 72
• เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาทดสอลจากประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกับพันธุ์ Toyonoka ส่วนพันธุ์นี้มีชื่อว่า Tochiotome ซึ่งได้รับชื่อตามปีที่พระองค์ท่านมีสิริพระชนมายุ 72 พรรษา ตัวผลค่อนข้างใหญ่ถึงใหญ่มาก น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 14 กรัม เนื้อเป็นสีขาว เมื่อสุกจัดผิวจะมีสีแดงจนถึงแดงจัด เนื้อแน่นกว่าพันธุ์พระราชทาน 70 แต่หวานน้อยกว่า มีกลิ่นหอม

พันธุ์พระราชทาน 60
• เป็นพันธุ์ลูกผสมชนิดแรกที่ทำได้สำเร็จซึ่งเป็นการผสมระหว่าง Rosa Linda และ Tochiotome ผลมีขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นทรงกรวยคล้ายหัวใจจนถึงทรงกลมปลายแหลม น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 10 – 15 กรัม รสชาติหวาน เนื้อข้างในแดงสด ผิวแดงจัดเป็นเงามัน กลิ่นหอม และให้ผลผลิตที่สูง

พันธุ์พระราชทาน 80
• เป็นพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่นที่นำมาปลูกทดลองในประเทศไทยแล้วประสบความสำเร็จและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในปี 2550 ด้วยลำต้นมีขนาดใหญ่ แข็งแรง ผลดก ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยมีมากสุดอยู่ที่ 30 – 35 กรัม รูปทรงสวย เนื้อแดงสดใส รสชาติหวาน และมีกลิ่นหอม

สายพันธุ์ใหม่ พระราชทาน 88
• เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์พระราชทาน 80 กับพันธุ์พระราชทาน 60 ขนาดของผลค่อนข้างสม่ำเสมอ มีสีส้มแดงจนถึงแดงสด เนื้อละเอียดแน่นมีสีแดงสลับกับสีขาว เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติหวานกว่าสายพันธุ์อื่น แทบไม่มีรสเปรี้ยว กลิ่นหอมโดดเด่นมาก หลังจากกัดเข้าไปเนื้อแทบละลายไปกับปาก ซึ่งตอนนี้เป็นสายพันธุ์ที่เราเอาไว้ใช้แข่งกับสายพันธุ์มาแรงของเกาหลีในขณะนี้

พันธุ์ 329
• พันธุ์นี้ถูกนำเข้ามาโดยนายปราโมทย์ รักษาราษฎร์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2544 จากประเทศอิสราเอล ผลผลิตที่ได้ผิวของสตรอว์เบอร์รี่มีสีแดงสดมัน ค่อนข้างกรอบ กลิ่นหอม รสชาติค่อนข้างหวาน เมื่อสุกแก่เต็มที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เหมาะในการขนส่งมาก

สตรอว์เบอร์รี่ดอย
• มีชื่อสามัญว่า Wild Strawberry, Mountain Strawberry, Hillside Strawberry ถูกจัดไว้ในประเภท The Wood Strawberry หรือสตรอว์เบอร์รี่ป่า ให้ผลผลิตที่ค่อนข้างสูง ผลมีขนาดเล็ก กลิ่นหอมมาก ลักษณะผลเป็นทรงกรวยยาว น้ำหนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 – 3 กรัม ซึ่งในปริมาณ 100 กรัม จะมีอยู่ 94 ผล

พันธุ์ Mara Des Bois
• เป็นสตรอว์เบอร์รี่ที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสแต่ไม่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น พึ่งมาได้รับความนิยมเอาในปี 2533 ซึ่งผลผลิตจะให้เร็วมาก ขนาดผลจะเล็กถึงปานกลาง สีมีสีแดงถึงส้ม รสชาติหวาน และมีกลิ่นหอม